กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

29 กันยายน 2563

หากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหันมาผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงแดดใช้เองจะช่วยประหยัดทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในแต่ละปีได้มหาศาล

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯมีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด Chula Smart City ด้วยคอนเซปต์ “SMART 4”

และ 1 ในนั้นคือ SMART ENERGY เริ่มที่โครงการ PMCU Solar Carpark ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาลานจอดรถตลาดสามย่าน ส่งเสริมการบริหารจัดการพลังงานผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯร่วมกับอิมแพค โซล่าร์ และบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม ดำเนินกระบวนการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เน้นไปที่การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์บนพื้นที่หลังคาโรงรถ 4,000 ตร.ม. มีกำลังติดตั้งขนาด 770 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1.1 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้า 4.4 ล้านบาทต่อปี

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ กก.ผจก.อิมแพค โซล่าร์ กรุ๊ป ผู้นำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาแบบครบวงจร กล่าวว่า ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาลานจอดรถ หรือ PMCU Solar Carpark

เป็นการปรับปรุงสภาพพื้นที่ลานจอดรถด้วยหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Private PPA จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ลดต้นทุนค่าใช้ไฟฟ้า

บริษัทจะรับผิดชอบด้านการลงทุนติดตั้ง และพัฒนาระบบแผงโซลาร์เพื่อการผลิตไฟฟ้าบนโครงหลังคาลานจอดรถให้กับจุฬาฯทั้งหมด

นำร่องการติดตั้งลานจอดรถด้านหน้าโครงการ Block 28 ตลาดสามย่าน ด้วยงบลงทุน 24 ล้านบาท พร้อมดูแลบำรุงรักษาหลังการติดตั้งตลอดอายุสัญญาด้วยทีมงานมืออาชีพ.

Source : ไทยรัฐออนไลน์